ประวัติความเป็นมา
คติที่มาเกี่ยวกับวันลอยกระทงมีอยู่หลายตำนาน ดังนี้
1. การลอยกระทง เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา
2. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์ คือบูชาพระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร
3. การลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
4. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระพุทธบาท ของพระพุทธเจ้า ที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทานที เมื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ
5. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
6. การลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก
7. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุตตะเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล
ประวัติการลอยกระทงในเมืองไทย
การลอยกระทงในเมืองไทย มีมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย เรียกว่า การลอยพระประทีป หรือ ลอยโคม เป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงของประชาชนทั่วไป ต่อมานางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกของพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม การลอยกระทงหรือลอยโคมในสมัยนางนพมาศ กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา
การลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท
รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่ไปปรากฏอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ คือ ครั้งหนึ่งพญานาคทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับ พญานาคทูลขออนุสาวรีย์ไว้กราบไหว้บูชา พระพุทธองค์จึงทรงประดิษฐานรอบพระพุทธบาทไว้ที่หาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เพื่อให้บรรดานาคทั้งหลายได้สักการะ บูชาการลอยกระทงที่มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ยังมีอีก 2 เรื่อง คือ 1. การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ และ 2. การลอยกระทงเพื่อต้อนรับพระพุทธองค์ในวันที่เสด็จกลับจากเทวโลก
ตำนานการลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี
เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลากลางคืนด้วยม้ากัณฐกะ พร้อมนายฉันทะมหาดเล็กผู้ตามเสด็จ ครั้นรุ่งอรุณก็ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที เจ้าชายทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดีเมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จลงประทับเหนือหาดทรายขาวสะอาด ตรัสให้นายฉันทะนำเครื่องประดับและม้ากัณฐกะกลับพระนคร ทรงตั้งพระทัยปรารภจะบรรพชา โดยเปล่งวาจา "สาธุ โข ปพฺพชฺชา" แล้ว จึงทรงจับพระเมาลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ตัดพระเมาลี แล้วโยนขึ้นไปบนอากาศ พระอินทร์ได้นำผอบทองมารองรับพระเมาลีไว้ และนำไปบรรจุยังพระจุฬามณีเจดียสถานในเทวโลกพระจุฬามณีตามปกติมีเทวดาเหาะมาบูชาเป็นประจำแม้พระศรีอริยเมตไตรยเทวโพธิสัตว์ซึ่งในอนาคต จะมาจุติบนโลกและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งก็ยังเสด็จมาไหว้ การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี จึงถือเป็นการไหว้บูชาพระศรีอริยไตรยด้วย
ตำนานการลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากเทวโลก
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชจนได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หลังจากเผยพระธรรมคำสั่งสอนแก่สาธุชนโดยทั่วไปได้ระยะหนึ่ง จึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาธรรมโปรดพระพุทธมารดา ครั้งจำพรรษาจนครบ 3 เดือน พระองค์จึงเสด็จกลับลงสู่โลกมนุษย์ เมื่อท้าวสักกเทวราชทราบพุทธประสงค์ จึงเนรมิตบันไดทิพย์ขึ้น อันมี บันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้ว ทอดลงสู่ประตูเมืองสังกัสสนคร บันไดแก้วนั้นเป็นที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลง บันไดทองเป็นที่สำหรับเทพยดาทั้งหลายตามส่งเสด็จ บันไดเงินสำหรับพรหมทั้งหลายส่งเสด็จในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ครั้งนี้ เหล่าทวยเทพและประชาชนทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันทำ การสักการบูชาด้วยทิพย์บุปผามาลัย การลอยกระทงตามคตินี้ จึงเป็นการรับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากดาวดึงส์พิภพ (เป็นตำนานเดียวกับประเพณีการตักบาตรเทโวรับเสด็จพระพุทธองค์ลงจากดาวดึงส์)
การลอยกระทง เพื่อบูชาพระนารายณ์บรรทมสินธุ์
ยังมีพิธีการลอยกระทงตามคติพราหมณ์อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า คือ พระนารายณ์ที่บรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร นิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หรือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เป็น 2 ระยะ จะทำในกำหนดใดก็ได้
ตำนานการลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม
นิทานต้นเหตุเกี่ยวกับอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นนิทานชาวบ้าน กล่าวถึงเมื่อครั้งดึกดำบรรพ์ มีกาเผือกสองตัวผัวเมียทำรังอยู่บนต้นไม้ในป่าหิมพานต์ใกล้ฝั่งแม่น้ำ วันหนึ่งกาตัวผู้ออกไปกากินแล้วหลงทานกลับรังไม่ได้ ปล่อยให้นางกาตัวเมียซึ่งกกไข่อยู่ 5 ฟองรอด้วยความกระวนกระวายใจ จนมีพายุใหญ่พัดรังกระจัดกระจาย ฟองไข่ตกลงน้ำ แม่กาถูกลมพัดไปทางหนึ่ง เมื่อแม่กาย้อนกลับมามีรังไม่พบฟองไข่ จึงร้องไห้จนขาดใจตาย ไปเกิดเป็นท้าวพกาพรหมอยู่ในพรหมโลก ฟองไข่ทั้ง 5 นั้นลอยน้ำไปในสถานที่ต่างๆ บรรดาแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โคและแม่ราชสีห์ มาพบเข้า จึงนำไปรักษาไว้ตัวละ 1 ฟอง ครั้งถึงกำหนดฟักกลับกลายเป็นมนุษย์ทั้งหมดไม่มีฟองไหนเกิดมาเป็นลูกกาตามชาติกำเนิดเลย กุมารทั้ง 5 ต่างเห็นโทษภัยในการเป็นฆราวาสและเห็นอานิสงส์ในการบรรพชา จึงลามารดาเลี้ยงไปบวชเป็นฤาษีทั้ง 5 ได้มีโอกาสพบปะกันและถามถึงนามวงศ์และมารดาของกันและกัน จึงทราบว่าเป็นพี่น้องกัน ฤาษีทั้ง 5 มีนามดังนี้ คนแรก ชื่อ กกุสันโธ (วงศ์ไก่) คนที่สอง ชื่อ โกนาคมโน (วงศ์นาค) คนที่สาม ชื่อ กัสสโป (วงศ์เต่า) คนที่สี่ ชื่อ โคตโม (วงศ์โค) คนที่ห้า ชื่อ เมตเตยโย (วงศ์ราชสีห์) ต่างตั้งจิตอธิษฐาน ว่าถ้าต่อไปจะได้ไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ร้อนไปถึงมารดา ด้วยแรงอธิษฐาน ท้าวพกาพรหมจึงเสด็จมาจากเทวโลก จำแลงองค์เป็นกาเผือก แล้วเล่าเรื่องราวแต่ทนหลังให้ฟัง พร้อมบอกว่าถ้าคิดถึงมารดา เมื่อถึงเพ็ญเดือน 11 เดือน 12 ให้เอาด้ายดิบผูกไม้ตีนกา ปักธูปเทียนบูชาลอยกระทงในแม่น้ำ ทำอย่างนี้เรียกว่าคิดถึงมารดา แล้วท้าวพกาพรหมก็ลากลับไป ตั้งแต่นั้นมา จึงมีการลอยกระทงเพื่อบูชาท้าวพกาพรหม แล้วเพื่อบูชารอยพระบาท ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ส่วนฤาษีทั้ง 5 ต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้ ฤาษีองค์แรก กกุสันโธ ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระกกุสันโธ ฤาษีองค์ที่สอง โกนาคมโน ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระโกนาคมน์ ฤาษีองค์ที่สาม กัสสโป ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระกัสสปะ ฤาษีองค์ที่สี่ โคตโม ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสมณโคดม ฤาษีองค์ที่ห้า เมตเตยโย ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระศรีอาริยเมตไตรยพระพุทธเจ้า 3 พระองค์แรก ได้มาบังเกิดบนโลกแล้วในอดีตกาล พระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 คือ พระพุทธเจ้าที่จะมาบังเกิดบนโลกในอนาคต ได้แก่ พระศรีอาริยเมตไตรย
ตำนานการลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุตต์
การลอยกระทงเพื่อบุชาพระอุปคุตต์นี้ เป็นประเพณีของชาวเหนือและชาวพม่า พระอุปคุตต์เป็นพระอรหันต์เถระหลังสมัยพุทธกาล โดยมีตำนานความเป็นมาดังนี้เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้โปรดให้สร้างพระสถูปเจดีย์และพุทธวิหารขึ้นทั่วชมพูทวีป มหาวิหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ "อโศการาม" ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแคว้นมคธ หลังจากที่สร้างพระสถูปเจดีย์ถึง 84,000 องค์สำเร็จแล้ว พระเจ้าอโศกทรงมีพระราชประสงค์จะนำพระบรมสารีริกธาตุของสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปบรรจุในในพระสถูปต่างๆ และบรรจุในพระมหาสถูปองค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นใหม่มีความสูงประมาณครึ่งโยชน์ และประดับประดาด้วยแก้วต่างๆ ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาให้ปาฎลีบุตร อีกทั้งต้องการให้มีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วันแต่ด้วยเกรงว่าพญามารจะมาทำลายพิธีฉลอง มีเพียงพระอุปคุตต์ที่ไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลเพียงท่านเดียวเท่านั้น ที่จะสามารถปราบพญามารได้ เมื่อพระอุปคุตต์ปราบพญามารจนสำนึกตัวหันมายึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้ว พระอุปคุตต์จึงลงไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลตามเดิมพระอุปคุตต์นี้ไทยเรียกว่า พระบัวเข็ม ชาวไทยเหนือหรือชาวอีสานและชาวพม่านับถือพระอุปคุตต์มาก ชาวพม่าไม่ว่าจะมีงานอะไรเป็นต้องนิมนต์มาเช้าพิธีด้วยเสมอ ไทยเราใช้บูชาในพิธีขอฝนหรือพิธีมงคล ฯลฯ
การลอยกระทงของชาวเหนือ (ยี่เป็ง)
การลอยกระทงของชาวเหนือ นิยมทำกันในเดือนยี่เป็ง (คือเดือนยี่หรือเดือนสอง เพราะนับวันเร็วกว่าของเรา 2 เดือน) เพื่อบูชาพระอุปคุตต์ซึ่งเชื่อกันว่าท่านบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล ตรงกับคติของชาวพม่า
การลอยกระทงของชาวอีสาน (ไหลเรือไฟ)
การลอยกระทงในภาคอีสาน เรียกว่าเทศกาลไหลเรือไฟจัดเป็นประเพณียิ่งใหญ่ในจังหวัดนครพนม โดยการนำหยวกกล้วยหรือวัสดุต่างๆ มาตกแต่งเป็นรูปพญานาคและรูปอื่นๆ ตอนกลางคืนจุดไฟปล่อยให้ไหลไปตามลำน้ำโขงดูสวยงามตระการตานอกจากนี้ยังมีประเพณีลอยกระทงในประเทศต่างๆ เช่นที่เขมร จีน อินเดีย โดยมีคติความเชื่อและประวัติความเป็นมาตรงกันบ้างแตกต่างกันไปบ้าง
การลอยกระทงในปัจจุบัน
การลอยกระทงในปัจจุบัน ยังคงรักษารูปแบบเดิมเอาไว้ได้ตามสมควร เมื่อถึงวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงในเดือน 12 ชาวบ้านจะจัดเตรียมทำกระทงจากวัสดุที่หาง่ายตามธรรมชาติ เช่น หยวกกล้วยและดอกบัว นำมาประดิษฐ์เป็นกระทงสวยงาม ปักธูปเทียนและดอกไม้เครื่องสักการบูชา ก่อนทำการลอยในแม่น้ำก็จะอธิษฐานในสิ่งที่มุ่งหวัง พร้อมขอขมาต่อพระแม่คงคาตามคุ้มวัดหรือสถานที่จัดงานหลายแห่ง มีการประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ และมีมหรสพสมโภชในตอนกลางคืน นอกจากนั้นยังมีการจุดดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล ซึ่งในการเล่นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษวัสดุที่นำมาใช้กระทง ควรเป็นของที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ
เทศกาลเผาเทียนเล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย
งานลอยกระทงที่ยิ่งใหญ่จัดขึ้นที่จังหวัดสุโขทัยเป็นงานระดับประเทศ เรียกว่า เทศกาลเผาเทียนเล่นไฟ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศไปร่วมสนุกสนานกันเป็นประจำมากทุกปี
พิธีจองเปรียงเทศกาลลอยกระทงของสุโขทัยในสมัยโบราณ
ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ได้กล่าวถึงพิธีจองเปรียงไว้ดังนี้พอถึงการพระราชพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญเดือน 12 เป็นนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยบรรดาประชาชนชายหญิงต่างตกแต่งโคมชักโคมแขวนโคมลอยทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร แล้วก็ชวนกันเล่นมหรสพสิ้นสามราตรีเป็นเยี่ยงอย่าง แต่บรรดาข้าเฝ้าฝ่ายราชบุรุษนั้น ต่างทำโคมประเทียบบริวารวิจิตรด้วยลวดลายวาดเขียนเป็นรูปสัณฐานต่างๆ ประกวดกันมาชักมาแขวนเป็นระเบียบเรียบราบตามแนวโคมชัยเสาระหงตรงหน้าพระที่นั่งชลพิมาน ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระราชอุทิศสักการพระมหาเกศธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ฝ่ายพระสนมกำนัลก็ทำโคมลอยร้อยด้วยบุปผชาติเป็นรูปต่างๆ ประกวดกันถวายให้ทรงอุทิศบูชาพระพุทธบาทซึ่งประดิษฐานยังนัมมทานทีแลข้าน้อย(นางนพมาศ) ก็กระทำโคมลอยคิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง ครั้นเวลาพลบค่ำ สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จลงพระที่นั่งชลพิมานพร้อมด้วยอัครชายา พระบรมวงศ์และพระสนมกำนัลนางท้าวชาวชะแม่ทั้งปวง พราหมณ์ก็ถวายเสียงสังข์อันเป็นมงคล ชาวพนักงานก็ชักสายโคมชัยโคมประเทียบบริวารขึ้นพร้อมกัน เพื่อจะให้ทรงพระราชอุทิศสักการบุชาพระจุฬามณี ฝ่ายนางท้าวชาวชะแม่ก็ลอยโคมพระราชเทพี พระวงศานุวงศ์โคมพระสนมกำนัล ก็เป็นลำดับกันลงมา ถวายให้ทอดพระเนตรและทรงพระราชอุทิศ ครั้นถึงโคมรูปดอกกระมุทของข้าน้อย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตร พลางทางตรัสชมว่าโคมลอยอย่างนี้วามประหลาด ยังหาเคยมีไม่ เป็นโคมของผู้ใดคิดกระทำ ท้าวศรีราชศักดิโสภาก็กราบบังคมทูลว่าโคมของนพมาศธิดาพระศรีมโหสถ..... ครั้นสมเด็จพระร่วงเจ้าทรงสดับ ก็ดำรัสว่าข้าน้อยนี้มีปัญญาฉลาดสมกับที่เกิดในตระกูลนักปราชญ์..... จึงมีพระราชบริหารบำหยัดสาปสรรว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงการกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 พระราชพิธีจองเปรียงแล้วก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุทอุทิศ สักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) ก็ปรากฏมาจนเท่าทุกวันนี้
บทส่งท้าย
ประเพณีการลอยกระทง น่าจะเป็นคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งต้องมีน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ เมื่อพืชพันธุ์ธัญญาหารเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ จึงมีการลอยกระทงไปตามกระแสน้ำ เพื่อขอบคุณพระแม่คงคาหรือเทพเจ้าแห่งน้ำ อีกทั้งเป็นการแสดงความคารวะขออภัยที่ได้ลงอาบ หรือปล่อยสิ่งปฏิกูลลงน้ำ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งเป็นการบูชาเทพเจ้าตลอดจนรอยพระพุทธบาท พระเจดีย์จุฬามณีฯลฯ ตามคติความเชื่อ หลังจากทำพิธีลอยกระทงแล้ว ก็จัดให้มีการละเล่นรื่นเริงสนุกสนาน เช่น การละเล่นพื้นเมือง การเล่นเพลงเรือ รำวงฯลฯ อันเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ
ความมุ่งหมายของการลอยกระทงมีอยู่หลายประการ เช่น การขอขมาต่อพระแม่คงคาการบูชารอบพระพุทธบาท การลอยเคราะห์โรคภัยและทุกข์โศกให้ไหลไปกับสายน้ำ ฯลฯ กิจกรรมดังกล่าวนี้จะจัดขึ้นในเดือน 12 โดยนับวันตามจันทรคติ หรือราวเดือนพฤศจิกายนกิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันลอยกระทง
1. นำกระทงไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง หรือตามแหล่งน้ำที่มีการจัดพิธี
2. ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในวันลอยกระทง เช่น การประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ การละเล่นพื้นเมือง เช่น รำวง เพลงเรือ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทย
3. จัดนิทรรศการ หรือพิธีการลอยกระทง เพื่อเผยแพร่และอนุรักษ์ประเพณีไทย
4. จัดรณรงค์ให้มีการใช้วัสดุจากธรรมชาติมาทำกระทง เพื่อไม่ให้เกิดมลภาวะแก่แม่น้ำลำคลอง
ขอขอบคุณบทความดีๆจาก http://www.banfun.com/culture/loykrathong2.html
วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
ยังคิดไม่ออกเลย ว่าจะไป ลอยกระทง ที่ไหนดี
แสดงความคิดเห็น